image

WAT PORTAL

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ หรือวัดเมือง เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำบางปะกงฝั่งตะวันตก เลขที่ 156 ถนนมรุพงษ์ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยโปรดให้ เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยามหาโยธา หาที่จะสร้างเมืองฉะเชิงเทราใหม่ และโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไกรสร กรมหลวงรักษ์รณเรศ (หม่อมไกรสร) ซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 เป็นแม่กองทำการสร้างกำแพงเมืองฉะเชิงเทรา และพระองค์ได้สร้างวัดหนึ่งด้วย ดังในพระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงไว้ว่า "...แล้วโปรดให้กรมหลวงรักษรณเรศออกไปสร้างป้อมกำแพงที่เมืองฉเชิงเทราอีกตำบล 1 โปรดให้สร้างวัดไว้ในกลางเมือง ซึ่งพระราชทานนามในบัดนี้ว่า วัดปิตุลาธิราชรังสฤษดิ..."
ข้อมูลทั่วไป
  • ชื่อ : วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏิ์
  • ที่ตั้ง : ต.หน้าเมือง อ.เมืองฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา 24000
  • นิกาย : มหานิกาย
  • ชนิด : วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
  • ประเภทวัด : พระอารามหลวง
  • วัน - เวลาเปิด :
    วันอาทิตย์
    : 08:00 - 21:00
    วันจันทร์
    : 08:00 - 21:00
    วันอังคาร
    : 08:00 - 21:00
    วันพุธ
    : 08:00 - 21:00
    วันพฤหัสบดี
    : 08:00 - 21:00
    วันศุกร์
    : 08:00 - 21:00
    วันเสาร์
    : 08:00 - 21:00

 

ประวัติ
เดิมทีวัดเมืองตั้งอยู่ตรงอยู่ที่กลางเมืองฉะเชิงเทรา แต่ เมื่อเกิดกบฏอั้งยี่ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๙๑ ทำให้วัดเมืองถูกเผาทำลาย ภายหลังการกบฏแล้ว ราวปี พ.ศ.2427 พระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) ได้ทำการย้ายวัดออกมาสร้างใหม่ในสถานที่ตั้งปัจจุบัน (จึงเป็นหลักฐานที่สำคัญว่าแท่นประหารอั้งยี่ที่วัดนี้ไม่ใช่เรื่องจริง) ปรากฏหลักฐานในบันทึกของ เซอร์ เออร์เนสต์ เมสัน ซาโตว (Sir Ernest Mason Satow) อัครราชทูตอังกฤษ ประจำกรุงสยาม เมื่อคราวตรวจพื้นที่ เมืองต่างๆในแม่น้ำบางปะกง ว่า

 

"...เจ้าเมืองปล่อยเรื่องหยุมหยิมในการบริหารปกครองอยู่ในอำนาจของน้องชาย ผู้ซึ่งเป็นปลัดและอายุได้ 75 ปีแล้ว ท่านสนใจแต่เพียงการเตรียมตนสำหรับโลกหน้าโดยการสร้างวัดแห่งหนึ่ง..."

 

เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้ว ในระยะแรกยังเรียกชื่อวัดว่า วัดท้ายเมือง เนื่องจากสร้างในพื้นที่ท้ายเมืองฉะเชิงเทรา และได้รับพระราชทานนามวัดใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฏ์” อันเป็นการเฉลิมพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวาระฉลองพระชนมายุครบรอบ 100 พรรษา ในปีพ.ศ.2430 และวัดนี้ได้ใช้เป็นที่พระราชทานเพลิงศพพระยาวิเศษฤๅไชย(ช้าง) เจ้าเมืองฉะเชิงเทราในปีเดียวกันนั้นเอง ในเวลานั้นวัดน่าจะมีแค่ พระอุโบสถเพียงอย่างเดียว ส่วนพระวิหารน่าจะสร้างขึ้นในสมัยหลัง ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่าการที่ต้องสร้างพระวิหารขึ้นมานั้นอาจจะใช้เป็นที่จัดพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาแทนการใช้ที่อุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร

 

พุทธาวาสของวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีพระอุโบสถและพระวิหารล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว ประกอบด้วยพระปรางค์หลายองค์ที่บริเวณมุมของกำแพงแก้วปัจจุบันได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์จนอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

 

วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ มีชื่ออยู่ในทะเบียนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมีสภาพเป็นวัดตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมแห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. 2535 ว่า ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2385 และได้รับวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2395 ซึ่งมีเจ้าคณะปกครองฝ่ายสงฆ์ได้ปกครองดูแลตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

 

ทำเนียบเจ้าอาวาส
วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เดิมเป็นวัดราษฎร์ ตั้งแต่สร้างวัดมาตามหลักฐาน ที่ปรากฏ มีพระภิกษุผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสที่พอสืบค้นได้ ดังนี้

  1. พระอธิการแก้ว
  2. พระครูธรรมภาณีวรคุณ (ช่วย แย้มจินดา) พ.ศ. 2454 - 2485
  3. พระครูอุดมสมณคุณ (เติม ทองเสริม) พ.ศ. 2485 - 2514
  4. พระครูจินดาภิรมย์ (ชด แย้มจินดา) พ.ศ. 2514 -2524
  5. พระครูไพโรจน์ธรรมาภิวัฒน์ (สง่า ธมฺมโสภโณ) พ.ศ. 2524 - 2525
  6. พระสมุห์พงษ์พันธ์ วีรธมฺโม (ปัจจุบัน พระครูวีรศรัทธาธรรม เจ้าอาวาสวัดสุนีย์ศรัทธาธรรม)รักษาการเจ้าอาวาส วันที่ 15 มิถุนายน 2545 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546
  7. พระเทพปัญญาเมธี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ.9) พ.ศ. 2549 (20 กุมภาพันธ์ 2547 ) ถึง พ.ศ. 2552

 

ต่อมาวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยกเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2551 เนื่องใน โอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 วันที่ 5 ธันวาคม 2550 นับแต่ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอารามหลวง มีเจ้าอาวาสปกครองวัด ดังนี้

  1. พระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ. 9) พ.ศ. 2552 (4 มีนาคม2552) - ปัจจุบัน (พ.ศ. 2561)

 

กิจการงานคณะสงฆ์ 6 ด้าน

1. ด้านการปกครอง
วัด มีระเบียบการปกครองวัดเป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติ คณะสงฆ์ และกฎมหาเถรสมาคม จัดทำทะเบียนพระภิกษุ สามเณร และศิษย์วัดไว้เป็นหลักฐาน ครบถ้วน มีการปกครองดังนี้

ทำเนียบพระสังฆาธิการ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ (พระอารามหลวง) พุทธศักราช 2561

  1. พระธรรมปริยัติมุนี (ประยนต์ อจฺจาทโร ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ และที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 12
  2. พระครูสุตธรรมาภรณ์ (สำาราญ ญาณวุฑฺโฒ ป.ธ.4, พธ.บ., Ph.D.) รองเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
  3. พระครูปริยัติธรรมกิจ (มาโนชญ์ มหาปุญฺโญ ป.ธ.3, พธ.ม.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ และเจ้าคณะอำเภอท่าตะเกียบ
  4. พระครูปรีชากิจจานุวัฒน์ (บัณฑิต ฐิตปญฺโญ พธ.บ.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
  5. พระครูธรรมธรพิชัย วิชฺชาธโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
  6. พระมหาวิเชียร วชิรวํโส ป.ธ.9, ศษ.บ. ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
  7. พระครูปลัดวิมลปริยัติวัฒน์ (ปัญญา ปญฺญาวชิโร ป.ธ.๔, พธ.ม.) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์

 

2. ด้านการศาสนศึกษา
มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา อยู่ในความผิดชอบของ กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการจัดการศึกษาทางวิชาการพระพุทธศาสนา แผนกนักธรรม-ภาษาบาลี และหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)

  • การศึกษา แผนกธรรม นักธรรม (ตรี-โท-เอก), ธรรมศึกษา (ตรี-โท-เอก)
  • การศึกษาแผนกบาลี เปรียญธรรม  1-2 ถึง 9
  • การศึกษาแผนกสามัญ  ในระดับมัธยมศึกษา (ม.1-ม.6)

 

3. ด้านสาธารณูปการ
งานสาธารณูปการ ได้แก่การก่อสร้างและการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร ศาลา กุฎิ การพัฒนาวัดในด้านวัตถุทุกอย่าง ไม่เฉพาะแต่ศาสนสถานเท่านั้น ยังรวมไปถึงการทำวัดให้สะอาด ร่มรื่น สะดวก สบาย การทำถนนทางเดินในวัด และการตบแต่งวัดให้ดูสวยงามให้สบายตาแก่ผู้พบเห็นด้วย

 

4. ด้านการเผยแผ่

  1. มีการทำบุญ และแสดงธรรมทุกวันพระ และวันสำคัญในทางพระพุทธศาสนา
  2. มีวิทยากรเพื่ออบรมสั่งสอนศีลธรรม ตามโอกาส
  3. จัดสวดมนต์นพเคราะห์ทุกวันพระ 15 ค่ำ และวันอาทิตย์
  4. จัดบวชเนกขัมจาริณี ทุกวันศุกร์-วันอาทิตย์ ต้นเดือน
  5. จัดบรรพชาสามเณรช่วงปิดเทอม ปีละ 2 ครั้ง
  6. จัดโครงการอุปสมบทหมู่ ในโอกาสต่าง ๆ
  7. จัดกิจกรรมวันสำคัญทางศาสนา  วันสำคัญต่าง ๆ

 

5. ด้านการสาธารณสงเคราะห์

  1. อนุเคราะห์สถานที่และวิทยากร อบรมสั่งสอน ศีลธรรมจริยธรรม 
  2. อนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมด้านพิธีกรรมต่าง
  3. อนุเคราะห์ให้ยืม วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ ต่าง ๆ
  4. เป็นที่จอดรถ ของ ข้าราชการ นักเรียน และผู้ปกครอง
  5. แจกเครื่องอุปโภคบริโภค แก่ประชาชน หรือผู้ประสบภัย

 

6. ด้านการศึกษาสงเคราะห์

  1. มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนนักศึกษา วันอายุวัฒนมงคลเจ้าอาวาส
  2. จัดการเรียนและสอบธรรมศึกษาในโรงเรียน
  3. มอบทุนเพื่อจัดการเรียนนธรรมศึกษาแก่โรงเรียน
  4. แจกเครื่องอุปโภคบริโภค แก่นักเรียนที่ร้องขอมา ตามวาระโอกาส

 

ขอขอบคุณที่มาข้อมูลจาก : เว็บไซต์ https://th.wikipedia.org/wiki/วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
ขอขอบคุณที่มารูปภาพจาก : เว็บไซต์ https://www.facebook.com/papaiwatofficial/


ขออภัย อยู่ระหว่างดำเนินการ